ประเภทของภาพข่าว พร้อมเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์

ภาพข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์

ภาพถ่ายช่วยให้ข่าวมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหา รายละเอียดของเรื่องรวมทั้งนิยมชมชอบต่อบุคคลและหน่วยงานได้ดียิ่งขึ้น ภาพถ่ายจึงเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญในการประชาสัมพันธ์

ประเภทของภาพข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์

แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ภาพบุคคล เน้นบุคคลสำคัญในเหตุการณ์ 2) ภาพกิจกรรม เน้นกิจกรรมที่น่าสนใจ 3) ภาพสถานที่ เน้นสถานที่สำคัญในข่าว 4) ภาพเหตุการณ์ เน้นเหตุการณ์ตามธรรมชาติ

เทคนิคในการถ่ายภาพให้ได้ลงข่าว

เทคนิคในการถ่ายภาพให้ได้ลงข่าวมีข้อควรพิจารณาดังนี้

  1. มีความสอดคล้องกับเนื้อหาข่าว ข่าวและภาพควรจะกลมกลืนกัน มีเนื้อหา มีชีวิตชีวา มีความชัดเจน สามารถบอกเรื่องราวให้ผู้ดูรู้เรื่องและเข้าใจได้ชัดเจน และควรมีคำอธิบายภาพ ซึ่งมีรายละเอียดว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม อย่างไร โดยพิมพ์ด้วยกระดาษต่างหากไว้ใต้ภาพ ไม่ควรเขียนข้างหลังภาพ
  2. การถ่ายภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์ ต้องเลือกบุคคลที่น่าสนใจ จะตามใจผู้ที่ต้องการเป็นข่าวไม่ได้ ต้องมีศิลปะและใช้วิจารณญาณในการถ่ายภาพและคัดเลือกภาพให้เหมาะสม หากภาพถ่ายไม่น่าสนใจ ไม่มีความแปลกใหม่ อาจไม่ได้รับการตีพิมพ์
  3. ภาพถ่ายประกอบข่าวของบุคคลผู้เป็นแหล่งข่าวในภาพ ไม่ควรนั่งตัวตรง (แข็งเหมือนภาพจากบัตรประชาชน) ควรอยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น กอดอก กำลังจับปากกา กำลังพูดอธิบาย ซึ่งทำให้ภาพข่าวน่าสนใจขึ้น

 

วิธีการถ่ายภาพ

ภาพถ่ายที่จะนำไปประกอบข่าวนั้น ปัจจุบันมีความสะดวก รวดเร็วและง่ายขึ้น เพราะเทคโนโลยีของ กล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอล ที่ใช้ระบบอัตโนมัติในการทำงาน ซึ่งมีข้อแนะนำในการถ่ายภาพดังต่อไปนี้

  1. วางนิ้วไว้บนปุ่มชัตเตอร์แล้วกดลงไปเบา ๆ ประมาณครึ่งทาง อย่าเพิ่งกดลงไปจนสุด กล้องจะเริ่มโฟกัสภาพและคำนวณแสง จากนั้นค่อยกดปุ่มชัตเตอร์ลงไปอีกครึ่งหนึ่งจนสุดอย่างแผ่วเบา กล้องก็จะบันทึกภาพทันที ภาพที่ได้จะไม่สั่นและได้จังหวะที่ต้องการ 2. การถ่ายภาพย้อนแสง สามารถเปิดแฟลชช่วย เพื่อไม่ให้ภาพที่ออกมามืด 3. การถ่ายภาพบุคคลครึ่งตัว ผู้ถ่ายภาพควรย่อตัวเล็กน้อย เนื่องจากหากถ่ายจากส่วนสูงปกติ ภาพที่อยู่ในมุมที่กดลง จะทำให้ศรีษะดูใหญ่ และช่วงตัวดูสั้น เป็นสาเหตุให้ได้ภาพที่ลำตัวและขาสั้นแต่ศรีษะโตเมื่อถ่ายภาพบุคคลเต็มตัว 4. การถ่ายภาพบุคคล ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ ด้านแสง ฉากหน้า ฉากหลัง โดยเฉพาะฉากหลังที่ดีต้องไม่รกรุงรัง และรบกวนสายตาในการมอง เช่น มีใบไม้หรือเสาโผล่ขึ้นมาจากศรีษะ ต้องหลีกเลี่ยงฉากดังกล่าว หรือถ่ายให้ฉากหลังเบลอ ด้วยการปรับรูรับแสงให้กว้าง ความเร็วชัตเตอร์สูง

 

 

เคล็ดลับในการถ่ายภาพหมู่เพื่อนำไปเป็นภาพประกอบข่าว

ภาพข่าวประชาสัมพันธ์นั้นต้องใช้ภาพหมู่เพื่อประกอบในการเผยแพร่ข่าวค่อนข้างมาก ซึ่งมีข้อแนะนำในการถ่ายภาพหมู่ดังนี้

1. พยายามให้น้ำหนักของภาพดูสมดุล ไม่หนักไปทางซ้ายหรือขวา ซึ่งเป็นหน้าที่ของช่างภาพเนื่องจากเป็นผู้ที่เห็นองค์ประกอบทั้งหมด ผู้ที่ถูกถ่ายจะไม่ทราบว่าภาพดูสมดุลดีหรือไม่ 2. การถ่ายภาพหมู่บ่อยครั้งต้องถ่ายในที่มีแสงน้อย ต้องใช้แฟลชช่วย ควรให้ภาพที่ออกมาเห็นชัดเจนทุกคน 3. หากไม่ต้องการให้ผู้ถูกถ่ายภาพหมู่บางคนหลับตา อาจใช้วิธีให้ทุกคนหลับตาก่อน แล้วจึงนับ 1-2-3 ให้เปิดตาได้ แล้วจึงทำการกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ จะได้ภาพที่ไม่มีใครหลับตา 4. การถ่ายภาพหมู่ไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม อาจถ่ายตอนเริ่มต้นกิจกรรมหรือระหว่างการทำกิจกรรม เพราะหากรอเสร็จสิ้นกิจกรรม สมาชิกอาจอยู่ไม่ครบหรือสื่อมวลชนบางท่านไม่สามารถรอจนจบกิจกรรม อาจกลับไปก่อนได้

 

เอกสารอ้างอิง

วราภรณ์ ชวพงษ์, เทคนิคการเขียนข่าว ส่งข่าว และเผยแพร่ภาพข่าวสู่สื่อมวลชน, เอกสารเผยแพร่

นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ และคณะ (2543), เหยี่ยวข่าวภาคประชาชน, เชียงใหม่ : บีเอสการพิมพ์

วีรนิจ ทรรทรานนท์ (2548), รู้ลึกเรื่องกล้องดิจิตอล รู้จริงเรื่องการถ่ายภาพ, กรุงเทพมหานคร : บริษัท ซัคเซส มีเดีย จำกัด





ข้อมูลจาก : เรียบเรียง : อภิเษก จัดทำ : หน่วยสื่อสารองค์กร กองบริหารทรัพยากรนนทบุรี


16 ครั้ง

Address

กองบริหารทรัพยากรนนทบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี เลขที่ 217 ถนนนนทบุรี ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000

  • หน่วยสื่อสารองค์กร 02-969-1370 - 71
  • หน่วยพัสดุ 02-969-1530
  • หน่วยสารบรรณ 02-525-2682
  • หน่วยการเงิน 02-526-5045
การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 18 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 776 ครั้ง
  • ปีนี้ : 3026 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 23639 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2020 กองบริหารทรัพยากรนนทบุรี | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ