การเบิกค่าเล่าเรียนบุตรตามสิทธิข้าราชการ
ผู้มีสิทธิขอเบิกเงินสวัสดิการค่าการศึกษาบุตร
1. ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ
2. ผู้ได้รับบำนาญปกติหรือผู้ได้รับบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพ
บุตรที่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือ
บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 25 ปี ทั้งนี้ไม่รวมถึง บุตรบุญธรรม และบุตรซึ่งบิดามารดาได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น เบิกได้ตั้งแต่ บุตรคนที่ 1 ถึงบุตร คนที่ 3 โดยนับเรียงตามลำดับการเกิด
เงินบำรุงการศึกษา
หมายความว่า เงินประเภทต่าง ๆ ที่สถานศึกษาของทางราชการเรียกเก็บ ตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการเจ้าสังกัด หรือที่กำกับมหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง หรือองค์การของรัฐบาล
เงินค่าเล่าเรียน
หมายความว่า เงินค่าธรรมเนียมการเรียน หรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งสถานศึกษาของเอกชนเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ
อัตราการเบิกค่าบำรุงการศึกษา/ปีการศึกษา
ระดับชั้นการศึกษา | สถานศึกษาของทางราชการ | สถานศึกษาเอกชนที่ได้รับการอุดหนุน | สถานศึกษาเอกชนที่ไม่ได้รับการอุดหนุน |
ระดับอนุบาลศึกษา | 5,800 | 4,800 | 13,600 |
ระดับประถมศึกษา | 4,000 | 4,200 | 13,200 |
ระดับมัธยมศึกษา | 4,800 | 3,200 | 15,800 |
ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) | 4,800 | 3,400-7,200 | 16,500-24,400 |
ระดับอนุปริญญา | 13,700 | - | 25,000-30,000 |
ระดับปริญญาตรี | 25,000 | - | 25,000 |
***หน่วยเป็นบาท***
หลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร
1. แบบฟอร์มการขอรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร (แบบ 7223)
2. ใบเสร็จรับเงินค่าการศึกษา/ค่าเล่าเรียน (ฉบับจริง)
3. หนังสือรับรองการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา/ค่าเล่าเรียนของสถานศึกษา
ที่มา : หนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0422.3/ว 257 ลว 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559
เรียบเรียง : นางสาวจุฑา ยอดศิลป ตำแหน่ง นักวิชาการเงินและบัญชี